เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยสงสัย ว่าทำไม่ทั้งที่เราทำกิจกรรมมาตลอดทั้งวัน รู้สึกเหนื่อยก็จริง แต่พอถึงเวลาเข้านอนแล้วกลับนอนไม่หลับกันนะ ในความเป็นจริง การเดินทางไปพบแพทย์น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่ช่วยให้เรารู้คำตอบและปรับพฤติกรรมเพื่อให้นอนหลับได้อย่างสบายขึ้น จะได้ไม่เป็นภาระของเช้าวันถัดไป แต่ถ้าหากใครที่ยังไม่กล้าไปหาหมอละก็ ลองอ่านข้อมูลที่เราเอามาฝากไว้เพื่อเป็นการรับมือเบื้องต้นก่อนก็ได้
ทำไมเราถึงนอนไม่หลับ ?
สาเหตุของการนอนไม่หลับอาจเกิดจากโรค
อาทิ Adjustment Sleep Disorder เป็นภาวะนอนไม่หลับที่เกิดจากสิ่งกระตุ้น เช่น ความเครียด การเจ็บป่วย การผ่าตัด , Jet Lag อาการนี้มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เดินทางบินข้ามเขตเวลา ปรับตัวไม่ทัน ทำให้นอนหลับได้ยาก , Working Conditions เป็นผลมาจากการที่ต้องเข้าทำงานเป็นกะ ทำให้นาฬิกาชีวิตเสียไป นอนไม่เป็นเวลา , Medications นอนไม่หลับเพราะเกิดจากการใช้ยา
สาเหตุของการนอนไม่หลับที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของจิตใจ
ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับส่วนใหญ่มักเกิดจากอาการที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องของจิตใจ เช่น โรคเครียด หรือโรคซึมเศร้า
สาเหตุของการนอนไม่หลับที่มีปัจจัยเข้าไปกระตุ้นให้มีอาการ
โดยมักจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว เช่น โรคบางโรคที่ขณะเกิดจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการนอนไม่หลับ อาทิ โรคหอบหืด โรคหัวใจวาย โรคภูมิแพ , ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน Progesteron ที่เมื่อฮอร์โมนมีระดับที่สูงขึ้นก็จะทำให้ง่วงนอนในช่วงไข่ตก เมื่อฮอร์โมนมีน้อยก็จะทำให้นอนไม่หลับ
สาเหตุของการนอนไม่หลับที่เป็นปัจจัยเสริม
ซึ่งมีหลายภาวะที่ส่งเสริมให้เกิดการนอนไม่หลับได้ง่ายมากขึ้น อาทิ Psychophysiological Insomnia เกิดจากการที่ต้องนอนก่อนเวลา ทำให้นอนไม่หลับ เรียกว่า Advanced Sleep Phase Syndrome ซึ่งทำให้คน ๆ นั้นต้องพยายามนอนให้หลับ ไม่ผ่อนคลายจนเกิดการสะสมแล้วกลายเป็นความเครียด ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ชีพจรจะเต้นเร็ว ตื่นงาย อุณหภูมิร่างกายจะสูงกว่าปกติ , นอนไม่หลับจากสารบางชนิด เช่น สุรา หรือกาแฟ , การออกกำลังกายในช่วงก่อนนอนและการทำงานที่ทำให้เกิดความเครียดในช่วงก่อนนอนทำให้นอนหลับได้ยาก , สิ่งแวดล้อมภายในห้องนอนไม่เหมาะสม เช่น ห้องร้อน หรือหนาวเกินไป เสียงดังเกินไป ไปจนถึงลักษณะการนอนของคนใกล้ชิด เช่น นอนดิ้น หรือนอนกรน
8 วิธีช่วยแก้อาการนอนไม่หลับได้
- จัดห้องนอนให้เหมาะสมกับการนอน อย่าให้มีเสียงรบกวนแทรกเข้ามาได้ ปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงก่อนเข้านอน
- ก่อนนอนให้ดื่มน้ำอุ่น ๆ สักแก้ จะช่วยให้หลับสบายขึ้น
- ไม่ควรงีบในเวลากลางวัน เพราะอาจรบกวนการนอนในเวลากลางคืนได้ แต่ถ้าทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ไม่ควรงีบเกิน 1 ชั่วโมง
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่านอนมากจนเกินไป และหลังตื่นให้ลุกออกจากที่นอนในทันที
- เข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา ทำให้ติดเป็นนิสัย
- ถ้านอนไม่หลับเกิน 15 – 20 นาที ให้รีบลุกออกจากเตียงมาหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือวิชาการ หรือธรรมะ น่าจะช่วยให้ง่วงได้อยู่ไม่น้อย หลีกเลี่ยงการดูโทรทัศน์ หรือเล่นคอมพิวเตอร์ เพราะแสงจากหน้าจอจะกระตุ้นให้สมองตื่นตัวได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 – 45 นาที จำนวน 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยลดความเครียดทางอารมณ์และร่างกายได้ ควรออกกำลังกายในช่วงเช้าและเย็นจะทำให้ได้ผลดีที่สุด ไม่ควรออกกำลังกายตอนดึก
อ่านเพิ่มเติม สุขภาพ